เปิดธุรกิจใหม่ “พลิกโฉม” ECF

เปิดธุรกิจใหม่ “พลิกโฉม” ECF

“พลังงาน & แผ่นไม้เอ็มดีเอฟ” ธุรกิจใหม่กำไรสูงของ “อารักษ์ สุขสวัสดิ์” ผู้ก่อตั้ง บมจ. อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค โชว์พันธกิจผลักดันฐานะการเงิน 3 ปีข้างหน้า ยอดขายแตะ “หมื่นล้าน” จากเดิม “พันล้าน”

เมื่อธุรกิจเดิมที่คลุกคลีมาตลอด 20 ปี ของ บมจ. อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค หรือ ECF ไม่สามารถผลักดันฐานะการเงินให้ขยายตัวแบบ “ก้าวกระโดด” หลังต้องพึ่งพิงแรงงานจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันกำลังสร้างปัญหาสำหรับธุรกิจเมืองไทย บ่งชี้ผ่านแรงงานมีจำนวนน้อย และไม่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จเมื่อเทียบกับแรงงานประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของบริษัท คิดเป็นสัดส่วนรายได้เฉลี่ย 80% (ตัวเลขอ้างอิง 2560) สะท้อนผ่านผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2558-2560) มีกำไรสุทธิ 75.43 ล้านบาท 62.44 ล้านบาท และ 73.05 ล้านบาท ด้านรายได้ อยู่ที่ 1,358.30 ล้านบาท 1,427.74 ล้านบาท และ 1,498.18 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 9.84 ล้านบาท และมีรายได้ 381.78 ล้านบาท จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “อารักษ์ สุขสวัสดิ์” กรรมการผู้จัดการ บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค หรือ ECF บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า ตัดสินปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหม่ ด้วยการมุ่งหน้าสู่ “ธุรกิจพลังงานทดแทน” และ “ธุรกิจแผ่นไม้เอ็มดีเอฟ” (MDF Board)

ปัจจุบัน ECF ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์โดยกำหนดเป้าหมายและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นที่จะครองส่วนแบ่งทางการตลาดในการเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตของยอดขายในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตสำหรับปี 2560 เท่ากับ 4.69% แม้จะเป็นการเติบโตที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ก็ตาม เนื่องจากในปีที่ผ่านมาภาพรวมการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ของประเทศโดยเปรียบเทียบจากสกุลเงินดอลล่าสหรัฐมีอัตราการเติบโตที่ “ลดลง”

โดยตั้งเป้า 3 ปีข้างหน้า (2561-2563) บริษัทมียอดขาย “หมื่นล้านบาท” จากวันแรกที่เข้าระดมทุนมียอดขายปีละ “พันล้านบาท” กรรมการผู้จัดการ เล่าเป้าหมายการทำธุรกิจในอนาคตให้ฟังว่า บริษัทต้องการมีกำลังผลิตพลังงานชีวมวลในประเทศจำนวน 40 เมกะวัตต์ และพลังงานชีวมลในต่างประเทศ 50 เมกะวัตต์ขึ้นไป โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนใน 3 รูปแบบ นั่นคือ 1.ลงทุนเอง 2.ซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์) และ 3.ซื้อต่อใบอนุญาต (ไลน์เซ่นส์) ตามแผนงาน ปี 2561 คาดว่าครึ่งปีหลังบริษัทจะมีกำลังการผลิตพลังงานชีวมวลทั้งในและนอกประเทศเพิ่มขึ้นอีกอย่างละ 1 โครงการ โดยเป็นการลงทุนพลังงานชีวมวลในประเทศกำลังการผลิต 40% ใช้เงินลงทุน 2,800 ล้านบาท และในต่างประเทศ 40 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 4,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการศึกษาในรายละเอียด ปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจพลังงานทดแทนโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขนาด 7.5 เมกะวัตต์ จ.นราธิวาส ได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในไตรมาส 3 ปี 2560 โดยคาดว่าจะรับรู้รายได้ปีละ 200 ล้านบาท ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลจังหวัดแพร่ กำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์

คาดว่าจะรับรู้รายได้ปีละ 22 ล้านบาท ซึ่งบริษัท COD ไปแล้ว 1 เมกะวัตต์ (เม.ย.ที่ผ่านมา) และคาดว่าจะ COD อีก 1 เมกะวัตต์ในเดือน ธ.ค.นี้ เรามองว่าพลังงานชีวมวลกับเราอยู่ไม่ไกลกันมาก เพราะว่าธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ ECF มีเศษวัตถุดิบเป็นไม้อยู่แล้ว ฉะนั้นถือเป็นการปิดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ และเราเดินหน้าขยายการลงทุนต่อเนื่อง เพียงแต่รอจังหวะและเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น นอกจากนี้ บริษัทมีกำลังการผลิตพลังงานทดแทนประเภท “โซล่าร์ฟาร์ม” (Solar Farm) ในประเทศเมียนมา จำนวน 40 เมกะวัตต์ คือ “โครงการโรงไฟฟ้ามินบู” ขนาด 220 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้น 20% ภายในปีนี้ด้วย ล่าสุดได้นำเข้าแผงโซลาร์สำหรับ 50 เมกะวัตต์แรกครบแล้ว อยู่ระหว่างรอการติดตั้ง เมื่ อก่อสร้างเฟส 1 แล้วเสร็จแล้วก็จะดำเนินการก่อสร้างเฟส 2 ต่อทันที ขณะที่บริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อีกหลายโครงการ สำหรับ การลงทุนพลังงานโซลาร์ในต่างประเทศยังมองหาโอกาสอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ทุกโครงการต้องคุ้มค่ากับการลงทุน นั่นคือ อัตราผลตอบแทนภายในการลงทุน (IRR) อยู่ที่ 8-12% ซึ่งถือว่าคุ้มค่าในการลงทุน แต่ต้องยอมรับว่าค่อนข้างหายากมาในปัจจุบัน ขณะที่พลังงานโซลาร์ในเมืองไทยนั้น สถานการณ์แทบจะเรียกว่าปิดประตูแล้ว เรามองว่าพลังงานโซลาร์คงไม่หยุดลงทุนหากมีโอกาสจะเดินทางต่อ แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจพลังงานโซลาร์ในเมืองไทยโอกาสเหลือน้อยมากแล้ว เพราะว่าตอนนี้ภาครัฐไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้า PPA ประกอบกับรัฐสนับสนุนให้เป็นพลังงานโซลาร์แบบครัวเรือน ซึ่งไม่ใช่โซลาร์ทางอุตสาหกรมม

ขณะที่ กำลังมองหาโอกาสในการลงทุน “พลังงานขยะ” ซึ่งมองว่าการลงทุนในพลังงานขยะเป็นการคืนให้กับสังคมด้วย ทำให้สังคมอยู่ดีขึ้น ให้คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น อารักษ์ บอกต่อว่า มีอีกหนึ่งธุรกิจที่บริษัทกำลังลงทุน คือ ธุรกิจแผ่นไฟเบอร์บอร์ดความหนาแน่นปานกลาง (Medium Density Fiber Board) หรือแผ่นไม้เอ็มดีเอฟ (MDF Board) ซึ่งคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีมติอนุมัติให้ บริษัท แพลนเนทบอร์ด จำกัด (บริษัทย่อยของ ECF) เข้าทำรายการลงทุนสร้างโรงงานผลิตและจำหน่ายแผ่นไม้เอ็มดีเอฟ ที่ จ.นราธิวาส กำลังการผลิต 195,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี โดย ECF เป็นผู้ถือหุ้นสามัญของแพลนเนท จำนวน 5,700,000 หุ้น หรือคิดเป็น 57% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด สำหรับเหตุผลที่บริษัทลงทุน เนื่องจากบริษัทใช้เป็นวัตถุดิบอยู่แล้ว ประกอบกับตลาดแผ่นไม้เอ็มดีเอฟตลาดมีการเติบโตต่อเนื่องยิ่งเฉพาะในตลาด ต่างประเทศ โดยอ้างอิงจากตัวเลขส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขส่งออกแผ่นไม้เอ็มดีเอฟ ในเดือน ม.ค.-พ.ค. 2560 ยอดขาย 6,900 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีนี้ส่งออกยอดขาย 7,500 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นตัวเลขการเติบโตเพิ่มขึ้น คาดว่าโรงงานแผ่นไม้เอ็มดีเอฟจะก่อสร้างเสร็จต้นปี 2563 ซึ่งปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายจากในเอเชียเข้ามาติดต่อเพื่อนำออกไปขายในตลาดต่างประเทศแล้วกว่า 5-6 ราย อย่างไรก็ตาม การเข้าทำรายการในครั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพและผลกำไรของบริษัทอีกทาง รวมทั้งเป็นการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เนื่องจากเป็นการได้มาซึ่งธุรกิจที่สนับสนุนหรือเป็นต้นน้ำของธุรกิจหลัก คือ การผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ทำให้ธุรกิจของบริษัทมีความครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งจากผลการศึกษาความเป็นไปได้พบว่า เป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนในการลงทุนที่ดี โดยมีอัตราผลตอบแทนของโครงการ (Project IRR) ไม่ต่ำกว่า 10.43% ต่อปี และมีระยะเวลาการคืนทุน (Payback Period) ไม่เกินกว่า 10 ปี และผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Equity IRR) ไม่ต่ำกว่า 11.66% ต่อปี และมีระยะเวลาการคืนทุน (Payback Period) ไม่เกินกว่า 11 ปี เขา ถือโอกาสฉายภาพแผนธุรกิจดั้งเดิมว่า สำหรับ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ในภาวะปัจจุบันมีมุมมองว่าเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตไม่หวือหวา โดยคาดว่าจะเติบโตปีละ 10% เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการปรับตัวใหม่ หากยังทำธุรกิจแบบเดิมที่เป็นผู้ผลิตอย่างเดียวคงเหนื่อย แต่ปัจจุบันบริษัทไม่เป็นผู้ผลิตอย่างเดียวแต่ยังมีการ ซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) โดยซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาและติดแบรนด์ของเราเองตราสินค้าแบรนด์ “Costa” และส่งขายสินค้าไปขายในร้านค้าต่างจังหวัดทั่วประเทศไทยปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตโรงงานฟอร์นิเจอร์ใช้สัดส่วน 80% ผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศ และ 20% ผลิตเพื่อขายในประเทศไทย โดยตราสินค้า Costa เจาะตลาดร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกรายย่อยประกอบกับการเสริมทีมงานด้านการตลาดและการขายให้เพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตของรายได้จากการจาหน่ายผ่านร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกรายย่อยเท่ากับ 180.40%'ทว่า วันนี้บริษัทไม่ได้เดินเกมธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เช่นในอดีตแล้วที่มองต้องขยายตลาดออกไปในแทบอเมริกา , ยุโรป เป็นต้น แต่ในปัจจุบันบริษัทมองตลาดในเอเชียมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างศึกษาจับมือกับ “พันธมิตรประเทศจีน” ขยายตลาดเฟอร์นิเจอร์ คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 3 ปี 2561 ด้วยเหตุผลการจับมือกับพันธมิตรจีนคือ ข้อ1. ประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ จากจำนวนประชากรจำนวนมาก ซึ่งกำลังซื้ออีกมหาศาลด้วย และข้อ 2. พันธมิตรจีนนำสินค้าของบริษัทไปขายทั่วทุกมุมโลกไม่ใช่แค่เมืองจีนอย่างเดียว เนื่องจากพันธมิตรจีนมีแวร์เฮ้าส์ในหลายประเทศ ซึ่งถือเป็นการขยายตลาดทางอ้อมของบริษัทโดยไม่ต้องลงทุนด้วยตัวเอง หากเราได้พันธมิตรจีนเข้ามาเราก็สามารถเติบโตได้แบบไม่ต้องกังวลและมีความยั่งยืน เพราะว่าได้ขยายฐานลูกค้าออกไปทั่วทุกมุมโลก นอกจากความร่วมมือในการขยายตลาดแล้ว บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนในธุรกิจแวร์เฮ้าส์ในเมืองไทย โดยจะเปิดแวร์เฮ้าส์ร่วมกันโดยจะนำสินค้าจากบริษัทและนำสินค้าจากพันธมิตรเข้ามาจำหน่าย และคาดว่าจะมีการลงทุนทำธุรกิจออนไลน์ร่วมกันด้วย สำหรับผลประกอบการปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 10-12% จากปีก่อน ทั้งรายได้จากธุรกิจผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ และรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทนที่เริ่มทยอยรับรู้เข้ามาแล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้รายได้ของบริษัทมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่องสุดท้าย อารักษ์ ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันเรากำลังศึกษาธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามาด้วยคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ ซึ่งเป็นธุรกิจภายในประเทศ โดยบริษัทจะเข้าซื้อกิจการ (เทคโอเวอร์)
หากประกาศออกมาทุกคนต้องเซอร์ไพรส์แน่นอน

เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561

No Comments

Post A Comment